เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์]
3.อปัณณกวรรค 8.ทักขิณสูตร

8. ทักขิณสูตร
ว่าด้วยความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา

[78] ภิกษุทั้งหลาย ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา1(ของทำบุญ) 4 ประการนี้
ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก(ผู้ให้) แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก(ผู้รับ)
2. ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
3. ทักษิณาที่ไม่บริสุทธิ์ ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก
4. ทักษิณาที่บริสุทธิ์ ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก
ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร
คือ ทายกในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรม
เลวทราม ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างนี้แล
ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก เป็นอย่างไร
คือ ทายกในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มี
กัลยาณธรรม ทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก เป็นอย่าง
นี้แล
ทักษิณาที่ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร
คือ ทายกในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม แม้ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มี
ธรรมเลวทราม ทักษิณาที่ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างนี้แล
ทักษิณาที่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร
คือ ทายกในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม แม้ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มี
กัลยาณธรรม ทักษิณาที่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา 4 ประการนี้แล

ทักขิณสูตรที่ 8 จบ


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์]
3.อปัณณกวรรค 9. วณิชชสูตร

9. วณิชชสูตร
ว่าด้วยเหตุให้การค้าขายขาดทุนหรือได้กำไร

[79] สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบ
การค้าขายขาดทุน อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบการ
ค้าขายไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้
ประกอบการค้าขายได้กำไรตามที่ประสงค์ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคน
ในโลกนี้ประกอบการค้าขายได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้เข้าไปหา
สมณะหรือพราหมณ์ปวารณาว่า ‘ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าต้องการปัจจัย นิมนต์
บอกเถิด’ แต่เขากลับไม่ถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้น
กลับมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาประกอบการค้าขายใด ๆ ก็ย่อมขาดทุน
บุคคลบางคนในโลกนี้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ปวารณาว่า ‘ท่านผู้เจริญ
พระคุณเจ้าต้องการปัจจัย นิมนต์บอกเถิด’ แต่เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ไม่ตรง
ตามที่สมณะหรือพราหมณ์ประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้
เขาจะประกอบการค้าขายใดๆ ก็ไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์
บุคคลบางคนในโลกนี้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ปวารณาว่า ‘ท่านผู้เจริญ
พระคุณเจ้าต้องการปัจจัย นิมนต์บอกเถิด’ เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ตามที่
สมณะหรือพราหมณ์ประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้
เขาจะประกอบการค้าขายใดๆ ก็ได้กำไรตามที่ประสงค์
บุคคลบางคนในโลกนี้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ปวารณาว่า ‘ท่านผู้เจริญ
พระคุณเจ้าต้องการปัจจัย นิมนต์บอกเถิด’ เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ยิ่งกว่าที่
สมณะหรือพราหมณ์ประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้
เขาจะประกอบการค้าขายใด ๆ ก็ได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 21 หน้า :124 }